ที่มาและความสำคัญ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับการยอมรับทั่วไปในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาล ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเป็นองค์กรซึ่งเป็นที่รวมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ จำนวน 39 กลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยจำนวนบริษัทสมาชิก 6,869 ราย (ณ 27 เมษายน 2552)  ประมาณว่ามีพนักงานรวมกันมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆกันนับหมื่นตำแหน่ง

ข้อมูลด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม นับเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ความได้เปรียบของสภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะที่รวมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งของข้อมูลการจ้างงานในด้านต่างๆ  เช่น อัตรากำลังคนในภาคอุตสาหกรรม อัตราค่าจ้างเฉลี่ยของแต่ละตำแหน่ง อัตราการขึ้นเงินเดือน อัตราการจ่ายโบนัส รวมตลอดถึงการจ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์พนักงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากได้ทำการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้จากบรรดาสมาชิกอย่างเป็นระบบ ด้วยจำนวนที่มากเพียงพอแล้ว  ย่อมจะเป็นฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือและนำไปเป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการและนักลงทุนได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการในกลุ่มธุรกิจได้มีสมาคมวิชาชีพและบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ ได้ดำเนินการจัดทำการสำรวจอย่างกว้างขวาง  หากแต่กลุ่มและจำนวนผู้เข้าร่วมทำการสำรวจนั้นอาจมีจำนวนไม่มากพอหรือจำกัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจบางประเภทเท่านั้น  ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อถือที่มีต่อข้อมูลในการสำรวจโดยรวม   ประกอบกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีสมาชิกเป็นจำนวนมากที่ครอบคลุมในทุกกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม     จึงเห็นควรว่าหากจัดให้มีการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการในกลุ่มสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแล้ว ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนั้นจะสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ในระดับมาตรฐานของประเทศไทย รวมถึงประโยชน์ต่อการบริหารค่าตอบแทนสำหรับประเทศไทยในภาพรวมอีกด้วย



วัตถุประสงค์

  1. เพื่อทำการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการในกลุ่มสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมครอบคลุมกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม
  2. เพื่อสร้างข้อมูลอ้างอิงมาตรฐานในระดับชาติเกี่ยวกับค่าจ้างและสวัสดิการในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมไทย
  3. เพื่อนำเสนอผลการสำรวจและเผยแพร่ข้อมูลค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการให้แก่กลุ่มสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ  สำหรับเป็นแนวทางในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการที่เหมาะสมต่อไป
  4. เพื่อจัดทำและแสดงผลผลการสำรวจค่าจ้าง เงินเดือน และสวัสดิการ ในภาพรวมและฉบับแยกตามประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรม ให้แก่ผู้ประกอบกิจการสามารถนำข้อมูลค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการนี้ไปใช้สำหรับการปรับปรุง พัฒนา การบริหารค่าตอบแทน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมในระดับสากลได้


 
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนซี ชั้น 3 60 ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทร. (66-2) 345-1221-30 โทรสาร. (66-2) 345-1277-8
จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ 084079